วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ฝ่ายบริการการศึกษา วิทยาลัยการเมืองและการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นำโดย ดร.กีรติวรรณ กัลยาณมิตร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยการเมืองและการปกครอง จัดโครงการอบรม “การพัฒนาหลักสูตรตามแนวทางการศึกษาที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ (Outcome-Based Education : OBE)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาหลักสูตรตามแนวทางการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ (Outcome-Based Education: OBE) เนื่องจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้เล็งเห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นไปตามแนวทางของ Outcome-Based Education (OBE) และดำเนินการเพื่อรองรับการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายในตามเกณฑ์ ASEAN University Network-Quality Assurance (AUN - QA) พร้อมกันทุกหลักสูตร ให้เป็นไปในทิศทางและมาตรฐานเดียวกันทั้งมหาวิทยาลัย โดยกำหนดให้วิทยาลัยดำเนินการจัดทำหลักสูตรระดับปริญญาตรีทางวิชาชีพหรือปฏิบัติการที่มุ่งผลิตบัณฑิตให้มีความรอบรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เน้นความรู้ สมรรถนะและทักษะด้านวิชาการและวิชาชีพหรือมีสมรรถนะและทักษะด้านการปฏิบัติเชิงเทคนิคในศาสตร์สาขาวิชานั้น ๆ โดยผ่านการปฏิบัติงานในสถานประกอบการนั้น ซึ่งได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อำพล นววงศ์เสถียร คณบดีคณะบัญชีและวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “แนวคิดและการจัดทำหลักทำหลักสูตรตามแนวทาง OBE (OUTCOME – BASED EDUCATION)” ระหว่างวันที่ 19 – 20 พฤศจิกายน 2567 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐภัทร แก้วรัตนภัทร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เป็นประธาน ณ ห้องประชุมช่อแก้ว ชั้น 5 อาคาร 31
การจัดโครงการอบรมดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความชัดเจนในเรื่องที่มุ่งศึกษา (Clarity of focus) โดยทุกสิ่งที่ผู้สอนกระทำเพื่อต้องการให้ผู้เรียนได้รู้ ได้เข้าใจ และสามารถกระทำได้นั้นจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องที่มุ่งศึกษา กล่าวได้อีกอย่างว่า ผู้สอนควรมุ่งเน้นที่จะช่วยพัฒนาให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ และบุคลิกภาพต่าง ๆ อันจะทำให้เขาสัมฤทธิ์ผลหรือบรรลุถึงผลลัพธ์ตามที่เขาได้ตั้งใจไว้ โดยมีการบอกกล่าวถึงสิ่งเหล่านี้ไว้แล้วอย่างชัดเจน เป็นการออกแบบการสอนแบบย้อนกลับ (Backwards design)สิ่งใดก็ตามที่ผู้เรียนควรทำได้เพื่อให้เขาสำเร็จตามหลักสูตรที่เรียน หากว่าได้กระทำสิ่งนี้แล้ว การตัดสินใจในเรื่องการเรียนการสอนทั้งหมดก็จะเป็นการกระทำเพื่อให้มั่นใจว่าจะสัมฤทธิ์ผลได้ตามที่ปรารถนาในตอนท้าย เป็นการสร้างโอกาสในการเรียนรู้ (Create learning opportunities) ผู้สอนต้องมุ่งมั่นในการขยายโอกาสต่าง ๆ เพื่อผู้เรียนทุกคน เป็นการเสริมสร้างให้ไปในทิศทางเดียวกัน (Constructive alignment) โดยการออกแบบหลักสูตร การสอน การเรียนรู้และการวัดผลที่ทำให้ผู้เรียนสามารถสัมฤทธิ์ผลการเรียนรู้ตามที่ต้องการได้ และเป็นการวัดผลลัพธ์และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Outcomes assessment and continuous improvement) เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลของผลลัพธ์การเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ผู้เรียนได้สัมฤทธิ์ผล แล้วใช้ข้อมูลวัดผลลัพธ์นั้นไปพัฒนาและเพิ่มเติมหลักสูตร หรือรายวิชาต่อไป ซึ่งสอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต